วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555



ศรคีรี


ศรคีรี เล่าถึงประวัติของตัวเองเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ว่า "บ้านเกิดผมเลขที่ 13 บ้านหนองอ้อ ต. บางกระบือ อ.บางคณที (จ.สมุทรสงคราม ) พ่อผมชื่อมั่ง แม่ชื่อเชื้อ ผมมีพี่น้อง 6 คน ผมเป็นคนสุดท้อง ชื่อจริงผม ชื่อ ศรชัย (น้อย) ทองประสงค์ เกิดวันที่ 4 มีนาคม 2487 ผมเรียนจบ ป.4 ที่โรงเรียนพรหมสวัสดิ์สาธร จบมาก็ช่วยแม่ปาดตาล (มะพร้าว) ปีนต้นตาลทุกวัน มันเหนื่อยก็เลยหยุดพักบนยอดตาล เพื่อ ไม่ให้เสียเวลาผมก็ร้องเพลงบนยอดตาลจนหายเหนื่อยแล้วค่อยทำงานต่อ เพลงที่ชอบร้องก็มี "เสือสำนึกบาป" , "ชายสามโบสถ์" เพราะตอนนั้นเพลงของคำรณ สัมบุณนานนท์ ฮิตเป็นบ้าเลย ตอนนั้นอยาก เป็นนักร้องใจแทบขาด เวลาวงดนตรีของ พยงค์ มุกดา มาแสดงใกล้บ้าน ผมจะไปสมัครร้องให้คุณพยงค์ฟัง แกบอกว่าให้ไปหัดร้องมาใหม่ พยายามอยู่ 2 ครั้งครูพยงค์บอกว่ายังไม่ดี ผมเลย เลิกไปเอง จากนั้นพออายุ 20 ปี บวชได้พรรษาหนึ่งก็สึก พ่อแม่ผมไปซื้อไร่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โน่น ตอนนั้นเขากำลังทำไร่สับปะรดกัน"
แต่ประวัติอีกกระแสบอกว่า เพราะรักครั้งแรกเป็นพิษขณะที่บวช เมื่อว่าที่พ่อตาให้ลูกสาวแต่งงานกับชายอื่น เขาจึงเตลิดหนีออกจากบ้านมาอยู่กับพี่ชายที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยพี่ชายแบ่งไร่สับปะรดให้ทำ
ที่นี่ ศรคีรีเริ่มร้องเพลงอีกครั้ง โดยเข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัด และคว้ารางวัลมากมาย จนเพื่อนชื่อ พยงค์ วงศ์สัมพันธ์ มาชวนให้ร่วมวงที่เช่าเครื่องดนตรี และจ้างครูดนตรีจากที่ค่าย "ธนะรัชต์" มาสอน เพื่อความสนุกในหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อคนรู้จักมากขึ้น จึงตั้งวง "รวมดาววัยรุ่น" ที่ต่อ มาเปลี่ยนชื่อเป็น "รวมดาวเมืองปราณ" รับงานแสดงทั่วไปตามบ้านที่ขายสับปะรดได้โดยไม่คิดเงินทอง ตอนนั้นศรคีรีร้องเพลงแบบรำวง และใช้ชื่อ "พนมน้อย" เพราะร้องเพลงของ พนม นพพร และศักดิ์ชาย วันชัย ต่อมาได้นำวงมาแสดงในงานปีใหม่ของจังหวัด "ประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฟังเสียง และเห็นหน้าก็รักใคร่ชอบพอ จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น ศรคีรี ศรีประจวบ
หลังจากนั้น วิจิตร ฤกษ์ศิลป์วิทยา คนอยู่ใกล้บ้านกันให้การสนับสนุนเพื่อวงดนตรีแข็งแรงขึ้นและพากันเข้ากรุงเทพฯ เช่าเวลารายการวิทยุยานเกราะจาก จำรัส วิภาตะวัธ วิ่งล่องกรุงเทพฯ ประจวบฯอยู่บ่อยๆ ก็ได้พบกับ เพลิน พนาวัลย์ ที่พาเขาไปพบ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่บ้าน ตามคำขอร้องของศรคีรี

 โด่งดัง

"ภูพาน เพชรปฐมพร" นักร้องที่ใกล้ชิดกับศรคีรีในวง “ รวมดาววัยรุ่น “ เล่าว่า ตอนไปขอเพลง ตอนนั้นครูมีนักร้องที่ดังมากคือ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เป็นลูกศิษย์อยู่ ศรคีรีก็ร้องเพลงแนวเดียว กัน ครูไพบูลย์ก็ไม่ให้ จึงต้องเทียวไปเทียวมาอยู่หลายครั้ง จนครูใจอ่อน เพลงแรกที่ได้มาคือ น้ำท่วม ตอนที่บันทึกเพลง น้ำท่วม จ. ประจวบคีรีขันธ์ เสียหายอย่างมาก สับปะรดถูกน้ำท่วมทั้ง หมด นอกจากนั้น ครูก็ยังให้เพลงมาอีก 3 เพลง คือ "บุพเพสันนิวาส" , "แม่ค้าตาคม" , "วาสนาพี่น้อย" สำหรับการบันทึกเสียงครั้งแรกนั้น ชุดแรกมีทั้งหมด 6 เพลง คือ น้ำท่วม, บุพเพสันนิวาส, วาสนาพี่น้อย, แม่ค้าตาคม, พอหรือยัง และบางช้าง งานนี้ ศรคีรี เปลี่ยนสภาพจากนักร้องเพลง รำวง มาเป็น นักร้องเพลงหวานโดยสมบูรณ์
หลังจากเพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีลงมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมาด้วย โดยจะนำมาก็แต่เมื่อมีงาน ครั้งแรกในกรุงเทพฯ เขาเปิดการแสดงงานศพน้องชายครูไพบูลย์ที่วัดหลักสี่ บางเขน จากนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯ และเดินสายทั่วประเทศ และในการออกเดินสายใต้เป็นครั้ง แรก วงประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จัดว่าเป็นวงที่มีค่าตัวแพงวงหนึ่ง ช่วงนั้นศรคีรีได้มีโอกาสแสดงหนังของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ด้วย
ต่อมาศรคีรีมีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการด้วยกัน ชื่อเสียงจึงตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ และกลับมาอีกครั้งในเพลง "ตะวันรอนที่หนองหาร" "อยากรู้ใจเธอ" รักแล้งเดือนห้า" "ลานรักลั่นทม" และ "คิดถึงพี่ไหม" ซึ่งเพลงหลังนี้ ขณะบันทึกเสียงศรคีรีร้องโดยปิดไฟมืด ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน เพลงนี้แต่งโดย พยงค์ มุกดา โดย ทิว สุโขทัย เคยร้องไว้เป็นคนแรกและเสียชีวิตไปก่อนหน้า และเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายที่ศรคีรีได้บันทึกเสียงไว้

ลาลับ

ก่อนเสียชีวิต ศรคีรีเคยไปทำการแสดงที่โรงหนังเอกมัยราม่า มีคนนำเอาพวงมาลัยดอกไม้สด แต่คาดด้วยผ้าดำแบบที่ทำไว้สำหรับคนตายมอบให้บนเวทีขณะร้องเพลง ศรคีรีรับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวที ศรคีรีสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีทั้งที่ร้องเพลงได้เพียง 5 เพลง
ด้วยวัยแค่ 28 ปี ศรคีรี ศรีประจวบ จากโลกนี้ไปเมื่อ 30 มกราคม 2515 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในเวลาไม่แน่นอน ประมาณ 03.00 - 05.00 น.บริเวณริมถนนพหลโยธิน ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ขณะเดินทางกลับจากการแสดงที่วัดหน้าพระธาตุ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปิดทำการแสดงที่วัดภาษี เอกมัย ในตอนค่ำ คาดว่าคนขับรถของศรคีรีเกิดง่วงนอน จึงจอดรถเก๋งโตโยต้าคราวน์ข้างทางเพื่อพักสักงีบ แต่ปรากฏว่ารถบรรทุกไม้ วิ่งมาด้วยความเร็วสูงประกอบกับบริเวณนั้นเป็นสะพานสูง เมื่อรถบรรทุกไม้วิ่งมาด้วยความเร็ว เมื่อถึงสะพานก็ทำให้รถกระโดดเสียหลัก ขึ้นไปทับรถของศรคีรี ทำให้เขาเสียชีวิตคาที่
หลังแสดงวันนั้น ลูกวงได้ออกเดินทางมายังจุดนัดพบที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งก่อน แต่หลังจากที่ลูกวงรออยู่นาน หัวหน้าวงยังเดินทางมาไม่ถึง จึงออกเดินทางต่อ แต่วิ่งไปสักระยะหนึ่ง ก็มีรถพลเมืองดีวิ่งไล่ตามและเรียกให้จอด เพื่อแจ้งข่าวเรื่องการประสบอุบัติเหตุของรถของศรคีรี หลังพบใบปลิวการแสดงปลิวออกจากรถศรคีรีเกลื่อนกลาด หลังรถบัสวิ่งกลับไปก็พบศพดังกล่าว ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ศรคีรี เสียชีวิตประ มาณ 8.00 น.ซึ่งเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเวลาพบศพมากกว่า
ก่อนเสียชีวิต ศรคีรี สมรสแล้ว และมีบุตรธิดารวม 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1 ชื่อ สมศักดิ์ ,ชนัญญา และสันติ
ครูไพบูลย์ บุตรขัน เคยเขียนไว้อาลัยการจากไปของศรคีรีว่า "แด่สุดรัก เธอเกิดมาเป็นผู้กล่อมโลก ฉันเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์ บัดนี้เธอจากโลกไปแล้วเหลือเพียงเสียงเพลง ศรคีรี ศรีประจวบ ฉันเสียดาย เสียดายจริงๆ เพราะเธอควรจะอยู่กล่อมโลกให้นานกว่านี้ "

 ผลงานเพลงดัง


ศรคีรี ศรีประจวบ บันทึกผลงานเพลงเอาไว้บางส่วน ดังนี้
01. ฝนตกฟ้าร้อง (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 02. วาสนาพี่น้อย (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 03. ขี่เหร่ก็รัก (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 04. บุพเพสันนิวาส (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 05. แม่ค้าตาคม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 06. น้ำท่วม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 07. แล้งน้ำใจ (พยงค์ มุกดา) 08. ดอกรักบานแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 09. หนุ่มนาบ้ารัก (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 10. ทุ่งรัก (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา) 11. พอหรือยัง (ชลธี ธารทอง) 12. บางช้าง (ศรคีรี ศรีประจวบ) เพลงแก้คือ สาวบางช้าง - ขวัญดาว จรัสแสง 13. หวานเป็นลมขมเป็นยา (สำเนียง ม่วงทอง) 14. เฝ้าดอกฟ้า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 15. หนาวลมเรณู (สุรินทร์ ภาคศิริ) (สนธิ สมมาตร์ เคยนำมาร้อง) 16. ตะวันรอนที่หนองหาร (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา) 17. เสียงขลุ่ยบ้านนา (เกษม สุวรรณเมนะ) (สายัณห์ สัญญา เคยนำมาร้อง แต่เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น เสียงขลุ่ยเรียกนาง) เพลงแก้คือ มนต์ขลังเสียงขลุ่ย - วันเพ็ญ เดือนเต็มดวง 18. มนต์รักแม่กลอง (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 19. หนุ่มกระเป๋า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 20. รักแล้งเดือนห้า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 21. ลานรักลั่นทม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 22. รักจากใจ (สำเนียง ม่วงทอง) 23. ไปให้พ้น (สมนึก ปราโมทย์) 24. คนมีเวร (สงเคราะห์ สมัตภาพงษ์) 25. อยากรู้ใจเธอ (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 26. เข็ดแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 27. พระอินทร์เจ้าขา (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) เพลงแก้คือ เทวดาเจ้าคะ - เตือนใจ บุญพระรักษา 28. คิดถึงพี่ไหม (พยงค์ มุกดา) เพลงแก้คือ น้องคิดถึงพี่ - ขวัญดาว จรัสแสง 29. ทุ่งสานสะเทือน (พยงค์ มุกดา) 30. เสียงซุงเว้าสาว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 31. รักเธอหมดใจ (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 32. กล่อมนางนอน (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 33. แม่กระท้อนห่อ (พยงค์ มุกดา) 34. หนุ่มนา (พยงค์ มุกดา)

ผลงานการแสดง

  • มนต์รักจากใจ

 เกียรติยศ

  • ปี 2547 ผลงานเพลง"เสียงขลุ่ยเรียกนาง"ของศรคีรี ศรีประจวบ จากการประพันธ์โดย เกษม สุวรรณเมนะ และขับร้องใหม่โดย ไท ธนาวุฒิ ได้รับรางวัล"มาลัยทอง"ประเภทเพลงเก่าทำใหม่ยอดเยี่ยม
 
 

ขวัญจิต ศรีประจันต์

ขวัญจิต ศรีประจันต์ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2490 - )เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 จากการเป็นแม่เพลงพื้นบ้านภาคกลางที่มีชื่อเสียง เต็มไปด้วยความสามารถในการเล่นเพลงแบบหาตัวจับได้ยาก และเมื่อหันเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง มีผลงานเพลงดังมากมาย ในจำนวนนั้นก็เป็นเพลงที่เกิดจากการแต่งของตัวเองด้วยหลายเพลง โดยในการนำเสนอเพลงลูกทุ่ง ขวัญจิต ศรีประจันต์ ก้ได้นำท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านภาคกลางเข้ามาผสมผสานอย่างลงตัว


เข้าสู่วงการ


ขวัญจิต ศรีประจันต์ สนใจเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ 15 ปี และแม้เชื้อสายทางพ่อจะมีญาติเป็นพ่อเพลงที่มีชื่อเสียงของสุพรรณบุรี แต่พ่อก็ไม่สนับสนุนให้เป็นแม่เพลงพื้นบ้านด้วยเกรงว่าความเป็นสาวรุ่นจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องชู้สาวตามมา แต่กลับสนับสนุนลูกสาวอีกคนหนึ่งที่อายุยังน้อยให้ไปฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกับพ่อเพลงไสว วงษ์งามแทน ความสนใจเพลงพื้นบ้าน ทำให้ขวัญจิตติดตามดูการร้องเพลงอีแซวของแม่เพลงบัวผัน จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2533) เป็นประจำและต่อมาได้มีโอกาสไปดูแลน้องสาวที่อยู่กับครูไสว จึงได้เรียนรู้การเล่นเพลงอีแซวแบบครูพักลักจำจนท่องเนื้อเพลงได้หลากหลายทั้งลีลาเพลงแนวผู้ชายของครูไสวและเพลงแนวผู้หญิงของครูบัวผัน
ขวัญจิต เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ และวรรณคดีเก่าๆของไทยอ่านแล้วก็นำเนื้อหานั้นมาแต่งเป็นเพลงอีแซว ร้องเล่นจนเกิดความแตกฉานซึ่งต่อมาได้ขอครูไสว แสดงบ้าง แม้ในระยะแรกๆครูไสวจะยังไม่อนุญาต แต่ในเวลาต่อมาเมื่อได้เห็นความอดทน ความตั้งใจจริง จึงอนุญาตให้แสดงความสามารถ และด้วยพลังเสียงที่กังวานมีไหวพริบ ปฏิภาณ เฉลียวฉลาดในการว่าเพลง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงอีแซวยิ่งนัก
ขวัญจิต ได้ตระเวนเล่นเพลงอีแซวอยู่กับวงพื้นบ้านอีกหลายวงเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์จากพ่อเพลง แม่เพลงอีกหลายคนและเริ่มแสดงเพลงอีแซวในต่างจังหวัด และในกรุงเทพมหานคร ในงานสังคีตศาลา หรืองานสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำ ทำให้มีความแตกฉานในเรื่องเพลงอีแซวมากยิ่งขึ้น สามารถเขียนเพลงเอง เพื่อใช้ในการแสดงและโต้ตอบเพลงสดๆ กับพ่อเพลงได้อย่างคมคายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม หลังจากเล่นเพลงอีแซวจนมีชื่อเสียงแล้วขวัญจิต ได้สมัครเป็นนักร้องลูกทุ่งโดยเริ่มอยู่กับวงดนตรีลูกทุ่งคณจำรัศ สุวคนธ์(น้อย) และวงไวพจน์ เพชรสุพรรณ โดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อเพลง เบื่อสมบัติ งานเพลงของครู จิ๋ว พิจิตร เมื่อ ปี 2510 ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงจากเพลงลูกทุ่งจากเพลง “เบื่อสมบัติ” , “ลาน้องไปเวียดนาม”, “ลาโคราช”, “ขวัญใจโชเฟอร์” , “เกลียดคนหน้าทน” , “ขวัญใจคนจน” “แม่ครัวตัวอย่าง “ และ “แหลมตะลุมพุก
จากนั้นได้แต่งเพลงเองได้แก่ “กับข้าวเพชฌฆาต” , “น้ำตาดอกคำใต้” , “สาวสุพรรณ “ ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นอย่างมาก ต่อมาจึงได้ตั้งวงดนตรีของตนเอง ชื่อวงขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นวงดนตรีที่นำระบบแสง สี เสียง ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาใช้ประกอบการแสดงนำเพลงอีแซวมาผสมผสานกับการแสดงเผยแพร่สู่ผู้ฟังทั่วประเทศจนเป็นที่รู้จักกันอย่างเป็นอย่างดี
พ.ศ. 2516 ขวัญจิต ยุติวงดนตรีลูกทุ่งแล้วกลับไปฟื้นฟูเพลงอีแซวที่ จ.สุพรรณบุรี อุทิศชีวิตในการอนุรักษ์ฟื้นฟู เผยแพร่และถ่ายทอดเพลงอีแซวให้กับลูกศิษย์และผู้สนใจมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการในการเป็นวิทยากรสาธิต รับแขกบ้านแขกเมืองด้วยการแสดงพื้นบ้านติดต่อกันมาอย่างยาวนาน


ผลงานเพลงดัง
  • กับข้าวเพชฌฆาต
  • เบื่อสมบัติ
  • แม่ครัวตัวอย่าง
  • ก็นั่นนะซิ
  • พ่อเพาเว่อร์
  • เศรษฐีเมืองสุพรรณ
  • ผัวบ้าๆ
  • น้ำตาดอกคำใต้
  • สาวสุพรรณ
  • สุดแค้นแสนรัก
  • อ้อมอกเจ้าพระยา
  • แหลมตะลุมพุก
  • ทำบุญวันเกิด
  • ลาน้องไปเวียดนาม
  • ลาโคราช
  • ขวัญใจโชเฟอร์
  • เกลียดคนหน้าทน
  • ขวัญใจคนจน
  • หม้ายขันหมาก (ต้นฉบับ)
  • ผัวหาย
  • ฯลฯ เป็นต้น

 ผลงานภาพยนตร์

 ชีวิตครอบครัว

สมรสกับนายเสวี ธราพร มีบุตร 3 คน เป็น ชาย 1 คน และหญิง 2 คน

เกียรติยศ




หวังเต๊ะ

หวังเต๊ะ มีชื่อจริงคือ หวังดี นิมา เกิดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2468 ที่จังหวัดปทุมธานี เป็นชาวมุสลิม เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญเพลงลำตัดเป็นพิเศษ ได้ตั้งคณะลำตัดชื่อ “คณะหวังเต๊ะ” รับงานแสดงมานานกว่า 40 ปี จนชื่อ หวังเต๊ะ กลายเป็นสัญลักษณ์ของลำตัด เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์และสืบทอดการแสดงพื้นบ้านได้อย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง ท่านมีความสามารถมีปฏิภาณไหวพริบ มีคารมคมคาย สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างยอดเยี่ยมโดยจะเน้นในด้านสุนทรียภาพ ความไพเราะงดงามทางภาษา ท่านใช้ความสามารถและศิลปะการแสดงประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์มาโดยตลอด ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ ถ่ายทอด เผยแพร่ศิลปะการแสดงลำตัดแก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อเป็นการสืบสานมรดกไทยไว้เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป หวังเต๊ะได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี 2531
ในบั้นปลายชีวิต ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จนกระทั่งถึงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ก็ถึงแก่กรรม สิริอายุได้ 87 ปี


คำประกาศเกียรติคุณ

นายหวังดี นิมา หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามหวังเต๊ะ เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ ที่จังหวัดปทุมธานี หวังเต๊ะ เป็นศิลปินผู้มีความสามารถเป็นเลิศด้านศิลปะเพลงพื้นบ้าน มีความชำนาญเป็นพิเศษในการแสดงลำตัด โดยตั้งคณะชื่อลำตัดหวังเต๊ะรับงานแสดงเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบันกว่า ๔๐ ปี จนชื่อหวังเต๊ะแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของลำตัด แม้ว่าจะชำนาญในเพลงพื้นบ้านแบบอื่น ๆ ด้วย กล่าวได้ว่า หวังเต๊ะ เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์และสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ยืนยงอยู่ได้อย่างน่าภาคภูมิยิ่ง หวังเต๊ะเป็นศิลปินที่มีความสามารถรอบตัว มีความเป็นเลิสทั้งด้านปฏิภาณและความคิดในการแสดงเพลงพื้นบ้าน สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างคมคาย เหมาะสมกับลีลาและสถานการณ์ สร้างความบันเทิงเริงรมย์แก่ผู้ฟังผู้ชมตลอดเวลา อย่างยากจะหาใครเทียบได้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน หวังเต๊ะได้แสดงให้มหาชนประจักษ์ถึงอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาและการแสดงได้อย่างเชี่ยวชาญ สมกับสุนทรียลักษณ์ของภาษาไทยที่มีมาแต่โบราณกาล หวังเต๊ะเป็นศิลปินผู้มีคุณธรรม ได้ใช้ศิลปะการแสดงเป็นสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์ตลอดมา ทั้งได้ถ่ายทอดศิลปะวิชาให้แก่ทั้งบุคคลในคณะและสถาบันต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ นับว่าหวังเต๊ะเป็นศิลปินที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งด้านสร้างสรรค์และอนุรักษ์ศิลปะ อันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทยมาตลอดระยะเวลายาวนาน

นายหวังดี นิมา หรือหวังเต๊ะ สมควรได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๓๑



คลิปผลงานบางส่วน “ครูหวังเต๊ะ”