วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555





หลักศิลาจารึก






ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้ภาษาไทยและตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเป็นต้นเค้าของตัวอักษร และวิธีการเขียนหนังสือไทยในปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิม
            ศิลาจารึกหลักนี้มีลักษณะเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยม ยอดกลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินชนวนสีเขียวมีจารึกทั้ง 4 ด้าน ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 25 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด ทุกหน้ามีรอยชำรุดขีดข่วน และถูกกะเทาะ เนื่อกจากทิ้งร้างเป็นเวลานานหลายร้อยปี ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ทรงผนวชและเสด็จธุดงค์ไปสุโขทัยเมืองเก่า ทรงพบศิลาจารึกแท่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2376 มีข้อความปรากฎในสมุดจดหมายเหตุของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า... "เมื่อศักราช 1195 ปีมะเส็ง เบญจศก จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือ มัศการเจดียสฐานต่างๆ ...  ทรงพบ "เสาศิลา" ที่มาแต่เมืองสุโขทัย มีข้อความเกี่ยวกับหนังสือไทยแรกมีขึ้นในเมืองนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้นำพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลา ลงมาไว้ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ซึ่งทรงประทับอยู่  เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศน์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาไว้ที่วัดนั้นด้วย"  คงจะได้ทรงศึกษาตัวอักษรและข้อความระหว่างนั้น ครั้นเสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งไว้ที่ศาลาราย ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สอง นับจากตะวันตก จนถึง พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารวมกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ได้พบภายหลัง เก็บไว้ที่ตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษส์  ต่อจากนั้นมีการย้ายที่เก็บอีกหลายครั้ง จนในปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร   ก่อนอ่านจารึก                    ผู้อ่านจารึกได้เป็นคนแรก     คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าคงเริ่มพยายามศึกษาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ในเรื่องที่เกี่ยวกับจารึกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันคัดตัวอักษรจากแผ่นศิลาลงแผ่นกระดาษ ดังปรากฎตัวอย่างหน้าแรกที่พระราชทาน เซอร์ ยอห์น โบวริ่ง (John Bowring) เอกอัครราชฑูตอังกฤษ และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ The Kingdom and People of Siam ของ  เซอร์ ยอห์น โบวริ่ง นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานราชฑูตฝรั่งเศสชุดหนึ่งด้วย              การคัดสำเนาศิลาจารึกนี้มีหลายครั้ง และมีการตึพิมพ์คำอ่านครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 36 เดือนกันยายน ร.ศ. 116 (พ.ศ.2440) หน้า 3543-3577  ให้ชื่อเรื่องว่า "อภินิหารการประจักษ์" ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ทรงรวมเรื่องศิลาจารึกเกี่ยวกับสุโขทัยไว้ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457              ต่อมาเมื่อหอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้จ้างศาสตราจารย์ยอร์ซ เซเดส์ (Goerge Coedes) เป็นบรรณารักษ์ใหญ่ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้ตรวจค้นสอบสวนอ่านแปลศิลาจารึกภาษาต่างๆ ที่หอพระสมุดได้รวบรวมเอาไว้ ได้พิมพ์คำอ่านศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลัก รวมทั้งหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2467 ในงานทำบุญฉลองครบอายุ 4 รอบ ของพระยาราชนุกูล (อวบ เปาโรหิตย์)  เรียกหนังสือนี้ว่า "ประชุมจารึกสยามภาคที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง" ที่หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2520
 
คัดลอก, อ้างอิง  ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ :
เอกสารสัมมนาเตรียมการจัดสัปดาห์ห้องสมุด ปีที่ 28, 2546.  ข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น